คู่มือการประเมินคุณภาพสถิติทางการด้วยตนเอง
1. บทนำ
สำนักงานสถิติแห่งชาติในฐานะที่เป็นหน่วยงานกลางของรัฐ มีภารกิจในการบริหารจัดการระบบสถิติของประเทศให้เป็นเอกภาพ โดยมีกลไกการดำเนินงานคือ การจัดทำแผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทย พ.ศ. 2554 – 2558 เพื่อกำหนดกรอบความรับผิดชอบของหน่วยสถิติในการจัดทำสถิติให้สามารถใช้ข้อมูลร่วมกันได้และเพื่อกำหนดมาตรฐานในการนำไปใช้เป็นแนวทางของการผลิตสถิติของหน่วยสถิติให้มีความถูกต้องตามหลักวิชาการ และสอดคล้องกับหลักมาตรฐานสากล โดยเฉพาะสถิติที่มีความสำคัญต่อการนำเสนอสถานการณ์ของประเทศ หรือเรียกว่า “สถิติทางการ” (Official Statistics) ซึ่งสถิติดังกล่าวต้องเป็นสถิติที่มีระบบการผลิตถูกต้องตามหลักการที่วางไว้อย่างเป็นระบบ และมีมาตรฐานคุณภาพที่กำหนด รวมถึงเป็นสถิติที่มีการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลอ้างอิง (Reference) ที่มีความน่าเชื่อถือสูงสำหรับประเทศไทย
เพื่อให้การผลิตสถิติทางการของประเทศเป็นไปคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้น สำนักงานสถิติแห่งชาติจึงได้พัฒนาการจัดการคุณภาพสถิติทางการซึ่งมีวิสัยทัศน์และพันธกิจของการพัฒนาคุณภาพสถิติทางการ ที่ว่า
วิสัยทัศน์: “ประเทศไทยมีการจัดการคุณภาพสถิติทางการที่เป็นรูปธรรมซึ่งทุกภาคส่วนร่วมกันจัดทำเพื่อให้เกิดข้อมูลสถิติทางการที่มีคุณภาพสำหรับใช้ในการพัฒนาประเทศ”
พันธกิจ: 1. บริหารจัดการคุณภาพสถิติทางการของประเทศ
2. ส่งเสริมให้มีการประเมินคุณภาพสถิติทางการ
3. พัฒนาบุคลากรที่ผลิตสถิติทางการให้มีความรู้ด้านการจัดการคุณภาพสถิติทางการ
เพื่อให้บรรลุตามวิสัยทัศน์และพันธกิจที่กำหนดขึ้นนั้น จึงได้กำหนดหลักปฏิบัติสำหรับการจัดการคุณภาพการผลิตสถิติทางการ 9 ประการ เพื่อส่งเสริมและรักษาคุณภาพการผลิตสถิติทางการอีกทั้งยังก่อให้เกิดความมุ่งมั่นในการร่วมมือกันและการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ใช้อย่างต่อเนื่อง ดังต่อไปนี้
หลักปฏิบัติข้อที่ 1 ความเป็นอิสระและความเป็นมืออาชีพ (Professionaland Independence)
หลักปฏิบัติข้อที่ 2 การเก็บรักษาความลับของข้อมูล (Statistical Confidentiality)
หลักปฏิบัติข้อที่ 3 ความถูกต้องของระเบียบวิธีทางสถิติ (Sound Methodology)
หลักปฏิบัติข้อที่ 4 กระบวนการสถิติที่เหมาะสม (Appropriate Statistical Procedures)
หลักปฏิบัติข้อที่ 5 ความสอดคล้องกับความต้องการ (Relevance)
หลักปฏิบัติข้อที่ 6 ความถูกต้องแม่นยำและเชื่อถือได้ (Accuracy and Reliability)
หลักปฏิบัติข้อที่ 7 ความเหมาะสมของเวลาและการตรงต่อเวลา (Timely and Punctuality)
หลักปฏิบัติข้อที่ 8 ข้อมูลสอดคล้องและสามารถรวม/วิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลอื่นได้ (Coherence)และใช้เปรียบเทียบได้ (Comparability)
หลักปฏิบัติข้อที่ 9 การเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย (Accessibility)
และเพื่อให้ผู้ผลิตรายการสถิติทางการในแต่ละหน่วยงานและสาขา เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างเพียงพอในการนำวิธีการจัดการคุณภาพสถิติไปใช้ จึงได้จัดทำคู่มือการประเมินคุณภาพรายการสถิติทางการขึ้นมา
2. วัตถุประสงค์ในการจัดทำคู่มือการประเมินคุณภาพรายการสถิติทางการด้วยตนเอง
2.1 เพื่อใช้เป็นแนวทางในการประเมินตนเองของหน่วยสถิติ และมีความเข้าใจตรงกันในการประเมินคุณภาพสถิติทางการด้วยตนเอง
2.2 เพื่อให้ผู้ประเมินทราบวิธีการประเมินคุณภาพสถิติทางการด้วยตนเอง
2.3 เพื่อให้ผู้ประเมินทราบถึงเกณฑ์ในการประเมินและการแปลผลการประเมินคุณภาพสถิติทางการด้วยตนเอง
3. คำนิยามศัพท์เฉพาะ
รายการสถิติทางการ(Official Statistics) หมายถึงรายการข้อความหรือตัวเลขที่เป็นตัวแทนแสดงถึงคุณลักษณะของสิ่งต่างๆ ในประเทศที่ประมวลตามความเป็นจริงจากข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ตามหลักวิชาการทางสถิติและเป็นสถิติที่มีความสำคัญต่อการใช้ในการกำหนดนโยบายเพื่อการพัฒนาประเทศ
ข้อมูลจากการสำรวจ (Survey Data Source)หมายถึง ข้อมูลจากการสำมะโนหรือสำรวจ (Census or Survey Data) การสำมะโน (Census) หมายถึง การเก็บรวบรวมข้อมูลจากทุกหน่วยประชากรที่อยู่ในคุ้มรวมของประชากรที่สนใจศึกษา และการสำรวจ (Survey) หมายถึงการเก็บรวบรวมข้อมูลจากเพียงบางหน่วยที่ถูกเลือกขึ้นมาเป็นตัวแทนของประชากรที่สนใจ แล้วนำข้อมูลเหล่านี้ไปประมวลผล เพื่อหาประมาณต่างๆ ที่ต้องการทราบ
ข้อมูลจากการบริหารงานหรืองานทะเบียน (Administrative Data Source) หมายถึงข้อมูลจากการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อการบริหารงาน หรือข้อมูลทะเบียนที่ไม่มีวัตถุประสงค์หลักในการจัดทำสถิติ
ข้อมูลจากหลายแหล่ง (Combination of Data Sources) หมายถึงข้อมูลที่ได้มาจากการรวบรวมจากข้อมูลหลายแหล่ง เพื่อสร้างรายการสถิติทางการตามวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่งโดยข้อมูลนั้นจะได้มาจากการสำรวจ การบริหารงาน หรืองานทะเบียนก็ได้